ดูแลยิ่งกว่าลูกในไส้ ลักษณะสีโคดี สีโคร้าย ตามตำราโบราณ
ลักษณะสีโคดี สีโคร้าย วัตถุประสงค์ที่นำมาเผยแพร่ เพื่อมิต้องการให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตสูญหายไปตามกาลเวลา และเพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อของชาวบ้านที่ผูกพันกับการเกษตรกรรม อันที่จริงแล้วยังมีตำราการดูลักษณะวัวชนอีกเฉพาะตำราหนึ่ง แต่ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ได้ เนื่องจากกลัวจะเป็นการนำไปสู่การเบียดเบียนสัตว์
ตามตำราของ พระบริสุทธศีลาจารย์ (วัน มะนะโส)
ตำราดูสีโคดีร้าย
๑. โคตัวใดสีแดงทั่วข้างตัวตลอดถึงเขาเล็บตาหาง แดงไม่มีสีอื่นเข้าปะปน ชื่อว่า โคหงส์ และประกอบด้วยขวันอยู่ประจำที่ดี ท่านว่าวิเศษนัก
๒. โคตัวใดสีดำมีแวว เขาดำ หางดำ เล็บดำตาดำ ไม่มีสีอื่นเข้าปะปน ชื่อว่า โคเพชร ท่านว่าดีนัก จะสมบูรณ์พูนเกิด
๓. โคตัวใดสีแดงเหมือนแสงไฟ แต่ลายขาวตั้งแต่โคนหางจนถึงตา ชื่อว่า โคสุภราช เป็นโคชั้นเอก ท่านว่าดีนัก ถ้าผู้ใดเลี้ยงให้ปลูกโรงสูงจากพื้นขึ้น ๑ ศอก เครื่องแอกไถราด ทั้งสำรับให้ตั้งไว้ที่โรงโคนั้น จะสมบูรณ์พูนเกิด
๔. โคตัวใดสีดำแต่ไม่มีแวว ลิ้นแดง หรือตัวแดงแต่ลิ้นดำ หรือตัวขาวลิ้นดำ ๓ อย่างนี้ ชื่อก่อพระเพลิง ถ้าผู้ใดเลี้ยงโคไว้จะฉิบหาย ทั้งเป็นมหาอุบาทว์ ไม่ดีร้ายนัก
๕. โคตัวใดสีแดง แต่ด่างทั้งตัว หางดอก ชื่อว่า เปลวเพลิง ถ้าผู้ใดใครเลี้ยงไว้จะร้ายนักกว่าโคชนิดอื่น ๆ แม้ขนของมันก็อย่าให้ตกในบ้าน ท่านว่า อุบาทว์ แพศยานัก
๖. โคตัวใดลายเหมือนกับเสือทั้งตัว ไม่ควรเลี้ยง ร้ายยิ่งกว่าชนิดอื่น ท่านห้ามไว้ไม่ให้เลี้ยงเป็นอันขาด